วันอาทิตย์ที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2561

บ้านดอนตาเพชร

แหล่งโบราณคดีบ้านดอนตาเพชร จังหวัดกาญจนบุรี

      แหล่งโบราณคดีบ้านดอนตาเพชร ตั้งอยู่ภายในโรงเรียนวัดสาลวนาราม ต.ดอนตาเพชร อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี ภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่ม และที่ราบเชิงเขาบางส่วน มีคลองชลประทางไหลผ่าน พื้นที่ส่วนใหญ่เหมาะแก่การทำการเกษตร
     แหล่งโบราณคดีบ้านดอนตาเพชร เป็นแหล่งโบราณคดีในสมัยเหล็กที่มีความสำคัญแห่งหนึ่งในพื้นที่ภาคกลางซีกตะวันตกของไทย ซึ่งเป็นส่วนขอบของที่ราบภาคกลางด้านทิศตะวันตก อยู่ ม.7 ภายในโรงเรียนวัดสาลวนาราม ต.ดอนตาเพชร อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี 
 รูปภาพที่เกี่ยวข้อง
ที่มา http://dontaphet.go.th/public/landmark/data/detail/landmark_id/6/menu/119


       การขุดค้นพบวัตถุโบราณซึ่งมีการขุดพบครั้งแรกเมื่อวันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2518 เมื่อทางโรงเรียนวัดสาลวนารามให้นักเรียนช่วยกันขุดหลุมเพื่อปักเสารั้วโรงเรียนทางด้านทิศตะวันตก และได้พบหลักฐานโบราณวัตถุเป็นจำนวนมากและมีอายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 5 – 8 (ราว 2,000 – 1,700 ปีมาแล้ว) 

       จากการดำเนินการขุดค้นทางโบราณคดีทำให้พบหลักฐานโบราณวัตถุได้มากถึง 168 รายการ สามารถจำแนกเป็นประเภท ดังนี้ เครื่องมือโลหะเหล็ก จำนวน 113 รายการ และจำแนกเป็นเครื่องมือตามรูปทรงและประโยชน์การใช้งาน ดังนี้ รูปทรงคล้ายมีด รูปทรงคล้ายสิ่ว รูปทรงคล้ายแหลน รูปทรงแบบหัวลูกศร รูปทรงแบบมีดขอ และเครื่องมือโลหะที่ไม่สามารถทราบรูปทรงที่ชัดเจน 
       
        โบราณวัตถุประเภทเครื่องสำริด สามารถจำแนกได้ ดังนี้ เครื่องใช้สำริดทรงขัน ทรงถาด ทรงกระบอก กระบวยสำริด เครื่องประดับสำริด กำไล แหวน ต่างหู ลูกกระพรวน ปิ่นปักผม โบราณวัตถุประเภทหิน ส่วนใหญ่จะเป็นลุกปัดที่ทำจากหินคาร์เนเลี่ยน หินอาเกด  หินควอทไซต์  โบราณวัตถุประเภทแก้ว ได้แก่ ลูกปัดแก้ว ซึ่งประกอบไปด้วยสีแดง    สีฟ้า สีเขียว และสีน้ำเงิน กำไลแก้ว จะมีรูปทรงวงโค้ง รูปเสี้ยววงกลม รูปสี่เหลี่ยม ปละรูปห้าเหลี่ยม โบราณวัตถุปะเภทดินเผา ประกอบด้วย ภาชนะดินเผา แวดินเผา (ใช้ปั่นด้าย)



  ที่มา http://www.dasta.or.th/dastaarea7/en/515/itemlist/category/115-notice
        แหล่งโบราณคดีแห่งนี้สามารถกำหนดอายุได้ราวพุทธศตวรรษที่ 3 - 8 หรือประมาณ 2,300 - 1,700 ปีมาแล้ว เป็นแหล่งที่พบหลักฐานการตั้งถิ่นฐานเป็นชุมชนถาวร มีการติดต่อกับชุมชนอื่นจากภายนอก ทั้งภายในพื้นที่ใกล้เคียงกัน เช่นในพื้นที่กาญจนบุรี สุพรรณบุรี ราชบุรี และในพื้นที่ห่างไกล เช่น อินเดีย เวียดนาม รวมทั้งมีการรับเทคโนโลยีเกี่ยวกับการหล่อเครื่องประดับและเครื่องใช้ที่ทำจากเหล็กและสำริด รวมทั้งการทำเครื่องประดับจากหินและแก้ว

โบราณวัตถุสำคัญที่ได้จากการขุดค้นและสำรวจ
       1.โบราณวัตถุสำริด  เช่น รูปไก่ลอยตัว ลักษณะเป็นรูปไก่ขันอยู่บนคอน ปากคาบสัตว์ที่มีขาคล้ายแมงมุมหรือปู, รูปกรงหรือสุ่มไก่สำริด มีลักษณะเป็นทรงกรวย ตอนบนมีรู ซึ่งคงใช้สำหรับเสียบกับรูปไก่, รูปหงส์, รูปนกยูง, ลูกกระพรวน, กำไล, แหวน, ภาชนะรูปทรงต่างๆ เช่น ทรงกระบอก ทรงขัน ทรงถังน้ำ ฝามีจุกแหลม ทัพพีสำริด และภาชนะสำริดชิ้นหนึ่งเป็นรูปผู้หญิงเกล้ามวยผม หูยาว สวมเสื้อ พบแต่ส่วนบนของร่างกายผู้หญิง
        ภาชนะสำริดที่พบที่บ้านดอนตาเพชรแสดงถึงเทคโนโลยีการหล่อโลหะขั้นสูง คือการหล่อแบบขับขี้ผึ้ง (Lost wax) เนื่องจากภาชนะที่พบมีเนื้อบางและมีการแกะลายที่สวยงาม จากการวิเคราะห์เนื้อโลหะสำริดทำให้ทราบว่ามีส่วนผสมของแร่ดีบุกสูง ทำให้สำริดที่บ้านดอนตาเพชรมีความวาวและเปราะแตกง่าย
ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ บ้านดอนตาเพชร
   ที่มา https://www.slideshare.net/pccchon/a2-thaihistory
       2.โบราณวัตถุเหล็ก ได้แก่ เครื่องมือเหล็กแบบต่างๆ ได้แก่ เครื่องมือช่างแบบมีบ้อง เครื่องมือช่างแบบมีช่องเข้าด้าม เครื่องมือช่างแบบมีกั่น ใบหอกมีบ้อง ใบหอกมีกั่น หัวลูกศร หัวฉมวก ห่วงเหล็กรูปคล้ายกำไล มีด ตะปู เคียว (มีดขอ) เบ็ด เครื่องมือเหล็กรูปคล้ายใบหอกแต่มีรูเจาะตรงกลาง เหล็กเส้นยาว
        จากการวิเคราะห์โครงสร้างในเนื้อโลหะเหล็กจากบ้านดอนตาเพชรพบว่าโครงสร้างทางภายภาพของเหล็กเป็นผลึกหยาบ การเรียงตัวผลึกเป็นแบบแฟร์ไรท์ ซึ่งเป็นโครงสร้างที่มีปริมาณคาร์บอนต่ำ ทำให้เนื้อเหล็กมีความแข็งน้อย เป็นเหล็กอ่อน (Wrought iron) เนื้อเหล็กแสดงให้เห็นว่าขั้นตอนการถลุงยังทำได้ไม่ดีนัก น่าจะมาจากกระบวนการตรง (Bloomery Process) ยังคงมีแร่ที่ไม่ต้องการ (slag) คือ เหล็กออกไซด์และเหล็กซัลไฟด์ หลงเหลืออยู่ในเนื้อเหล็ก ซึ่งจะทำให้เหล็กสึกกร่อนง่าย แต่มีประโยชน์คือเพิ่มความแข็งให้กับเหล็ก


รูปภาพที่เกี่ยวข้อง
ทีมา http://oknation.nationtv.tv/blog/voranai
        หลักฐานเครื่องมือเหล็กชี้ให้เห็นถึงวิถีการดำรงชีวิตของมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ของแหล่งโบราณคดีบ้านดอนตาเพชร เช่น เครื่องมือช่างที่ใช้ในงานช่าง ตัดไม้ และขุดดิน เครื่องมือที่ใช้ในการล่าสัตว์ ได้แก่ ใบหอก และหัวลูกศร ซึ่งวิถีชีวิตน่าจะประกอบไปด้วยการเพาะปลูกและการล่าสัตว์-หาของป่า นอกจากนี้เครื่องมือเหล็กยังสะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อในชุมชน กล่าวคือ เครื่องมือเหล็กจากทั้งสองแหล่งได้มาจากหลุมศพ หรือเป็นวัตถุอุทิศให้กับผู้ตาย แสดงถึงความเชื่อหลังความตายของคนในชุมชน มีการจงใจหักหรืองอเครื่องมือเหล็กที่อุทิศให้กับผู้ตายก่อนฝัง ซึ่งอาจมาจากความเชื่อว่าของที่ฝังให้ผู้ตายต้องทำให้สิ่งของเหล่านั้นตาย (เสียหาย) ไปด้วย
       3.โบราณวัตถุที่ทำด้วยหิน เช่น เครื่องมือหินหรือเครื่องมือขูดขนาดเล็ก (shoulder adze) ทำจากหินควอทไซท์, เครื่องมือหินขัด, ลูกปัดหินคาร์เนเลียนและอาเกต รูปทรงต่างๆ เช่น ทรงกลม ทรงกระบอก และทรงถังเบียร์ ลูกปัดหินชิ้นพิเศษคือลูกปัดหินคาร์เนเลียนรูปสิงโตในท่าทางกำลังกระโจน ด้านบนเจาะรู ความสูง 3.1 เซนติเมตร ยาว 5.7 เซนติเมตร, ลูกปัดหินกัดสี
ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ บ้านดอนตาเพชร
ที่มา http://missvilitt.blogspot.com/2011/11/blog-post_15.html

       4.โบราณวัตถุประเภทแก้ว เช่น กำไลแก้วสีม่วงและเขียว ลูกปัดแก้วสีต่างๆ เช่น สีเขียวอ่อน ฟ้า น้ำเงิน น้ำตาลแดง และใส รูปทรงที่เด่นชัดคือ รูปเหลี่ยมยาว รูปหกเหลี่ยมยาว รูปทรงสิบสองเหลี่ยม รูปพีรามิดยอดตัดประกบคู่ รูปวงแหวน รูปวงกลมขั้วแบน ทรงคล้ายถังเบียร์ และรูปกลม


       5.ภาชนะดินเผา เช่น ภาชนะดินเผามีก้นกลมปลายบาน บางใบทำลวดลายขูดขีด ลายประทับ และลายเชือกทาบ บางใบทาน้ำดินสีแดง, แก้วดินเผา รูปทรงกลม และมีรูตรงกลาง เป็นต้น
ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ บ้านดอนตาเพชร
 ที่มา http://sac.or.th/databases/archaeology/archaeology
6.กระดูกมนุษย์ ส่วนใหญ่พบเพียงชิ้นส่วน เช่น กระดูกขา กระดูกนิ้ว กระดูกแขน กะโหลกศีรษะ และฟัน เป็นต้น กระดูกบางชิ้นถูกบรรจุอยู่ในภาชนะสำริด และบางชิ้นพบร่วมกับสิ่งของที่แตกชำรุด ส่วนฟันพบทั้งฟันของวัยเด็กและผู้ใหญ่ ซึ่งปรากฏร่องรอยการสึกของฟันกราม 
การเดินทาง
       จากตัวจังหวัดกาญจนบุรี ใช้ทางหลวงหมายเลข 324 (ถนนอู่ทอง) มุ่งหน้าอำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี ไปตามถนนประมาณ 31 กิโลเมตร (ผ่านตัวอำเภอพนมทวนก่อน) พบสี่แยกให้เลี้ยวซ้ายสู่ตำบลดอนตาเพชร ไปตามถนนอีกประมาณ 2 กิโลเมตร จะพบโรงเรียนวัดสาลวนารามอยู่ทางซ้ายมือ แหล่งโบราณคดีบ้านดอนตาเพชรและพิพิธภัณฑ์บ้านดอนตาเพชรอยู่ภายในโรงเรียน

       ผู้ต้องการเข้าเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์จำเป็นต้องติดต่อล่วงหน้าไปยังองค์การบริหารส่วนตำบลดอนตาเพชร ที่เบอร์ 034-680-448, 034-680-449 โดยไม่เสียค่าเข้าชม

แผนที่การเดินทาง


ที่มา
สุรเดช ก้อนทอง. (2519). การศึกษาเปรียบเทียบเครื่องมือเหล็กสมัยก่อนประวัติศาสตร์จากแหล่งโบราณคดีบ้านโป่งมะนาว จังหวัดลพบุรี กับแหล่งโบราณคดีบ้านดอนตาเพชร จังหวัดกาญจนบุรี. ปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร.
http://rlocal.kru.ac.th/index.php/th/2013-12-09-04-37-28/571-2017-02-28-06-26-38
http://sac.or.th/databases/archaeology/archaeology/%E0%B8%9A%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%94%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%95%E0%B8%B2%E0%B9%80%E0%B8%9E%E0%B8%8A%E0%B8%A3
http://www.museumthailand.com/Don_tha_Phet_Museum
http://www.bansansuk.com/krungsri/%E0%B9%81%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B9%82%E0%B8%9A%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%93%E0%B8%84%E0%B8%94%E0%B8%B5%E0%B8%9A%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%94%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%95%E0%B8%B2%E0%B9%80%E0%B8%9E%E0%B8%8A%E0%B8%A3.html
http://oknation.nationtv.tv/blog/voranai















ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บ้านดอนตาเพชร

แหล่งโบราณคดีบ้านดอนตาเพชร จังหวัดกาญจนบุรี         แหล่งโบราณคดีบ้านดอนตาเพชร ตั้งอยู่ ภายในโรงเรียนวัดสาลวนาราม ต.ดอนตาเพชร อ.พน...